รับมือแผ่นดินไหว เจ้าของบ้านอุ่นใจ ปลอดภัยไร้กังวล

รับมือแผ่นดินไหว เจ้าของบ้านอุ่นใจ ปลอดภัยไร้กังวล

ประเทศไทยไม่ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวบ่อย เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเขตเสี่ยง เมื่อเกิดเหตุแล้วจึงไม่มีองค์ความรู้ในการป้องกันตัวเอง หรือไม่คุ้นเคยกับวิธีรับมือกับภัยพิบัตินี้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเกิดเหตุแต่ละครั้งได้สร้างความเสียหายมากน้อยต่างกันต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะบ้านเรือนที่ไม่ได้รับการออกแบบให้ทนกับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวโดยตรงตั้งแต่แรก มาดูวิธีปฏิบัติเพื่อไม่ให้ได้รับบาดเจ็บขณะเกิดเหตุและแนวทางสำรวจความเสียหายของตัวบ้านหลังเกิดเหตุ

หลักปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว

    1. หลบในที่ปลอดภัยและแข็งแรง เมื่อรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวภายในตัวบ้าน อย่าตกใจ ให้ควบคุมสติแล้วใช้หลักการ 3 ข้อ คือ
        ก้ม (drop) ก้มตัวหรือย่อตัวลง เพื่อช่วยในการทรงตัว ไม่ให้หกล้มหรือเสียหลักขณะเคลื่อนเคลื่อนที่หาที่ป้องกัน
        หาที่ป้องกัน (cover) หาที่ป้องกันที่แข็งแรง เช่น ใต้โต๊ะ โดยให้อยู่ห่างชั้นหนังสือ ชั้นวางของ และบานกระจก หากไม่มีที่หลบในเวลานั้น อย่างน้อยที่สุดให้หมอบลงและหาหมอนหรือผ้าห่มหนาบังศีรษะและคอ
        ยึดเกาะ (hold on) จับยึดที่ป้องกันไว้ ให้ร่างกายอยู่ในกำบังเสมอ
      หากไม่ได้รับการให้ความรู้มาก่อน อาจตกใจและวิ่งหนีตามสัญชาติญาณขณะเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งผิดหลักความปลอดภัยเพราะจะได้รับอันตรายจากสิ่งของตกใส่หรือชิ้นส่วนอาคารพังทลายลงมาทับ หากอาศัยในอาคารที่มีผู้พักอาศัยร่วมกัน มักตื่นตระหนกและพยายามวิ่งมาที่ทางออกพร้อมๆ กัน จะได้รับบาดเจ็บจากการวิ่งชนหรือเหยียบกัน
    2. งดใช้ลิฟต์ หากที่พักเป็นอาคารหลายชั้น ไม่ควรใช้ลิฟต์ เพราะหากไฟฟ้าดับจะทำให้ติดอยู่ในลิฟต์ได้ หากจำเป็นต้องเดินทางระหว่างชั้นให้ใช้บันไดแทน ทั้งนี้ หากเกิดเหตุแผ่นดินไหวขณะอยู่ในลิฟต์พอดี ให้กดปุ่มทุกชั้น เมื่อประตูลิฟต์เปิดให้รีบออกมาทันที แต่ถ้าติดอยู่ภายในและลิฟต์ไม่เคลื่อนที่ ให้กดปุ่มฉุกเฉินและรอความช่วยเหลือ
    3. ไม่อยู่ใกล้สิ่งที่พังทลายหรือล้มลงมาได้ หากอยู่ภายนอกตัวบ้าน ควรอยู่ห่างจากใต้ระเบียงหรือวัสดุตกแต่งบ้านที่พังลงมาได้ เสาไฟฟ้า ต้นไม้ใหญ่ และกำแพงที่ไม่แข็งแรง

แผ่นดินไหวสงบแล้ว ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

  1. ควบคุมสติ สภาพแวดล้อมหลังเกิดแผ่นดินไหวอาจทำให้ตื่นตระหนก เช่น ไฟฟ้าดับ ฝุ่นละอองหนาทึบ อาคารพังเสียหาย ความวุ่นวายจากฝูงชน เป็นต้น หากภายในบ้านมืด ห้ามจุดเทียนหรือจุดไฟเพราะก๊าซอาจรั่วอยู่ทำให้เกิดอันตราย ให้ระมัดระวังเศษแก้วเศษวัสดุที่พื้น หากต้องการเดินออกมาจากนอกบ้าน
  2. ตรวจสอบความเสียหายในบ้าน ตรวจสอบดูว่า สายไฟ ท่อน้ำ ระบบก๊าซในห้องครัว ได้รับความเสียหายหรือไม่ หากพบความเสียหายหลังเกิดเหตุ ให้เจ้าของบ้านยกสะพานไฟ ปิดวาล์วน้ำ และปิดวาล์วก๊าซ ส่วนด้านโครงสร้าง ให้ตรวจสอบว่ามีการแตกร้าวของเสา คาน หรือผนังหรือไม่
  3. สำรวจความเสียหายรอบตัวบ้าน เมื่อเหตุสงบลง ให้ตรวจสอบผนังบ้านตามจุดต่างๆ เช่น เสา แนวระเบียง ผนังบ้าน หรือจุดเชื่อมต่อโครงสร้างต่างๆ หากพบความเสียหาย สามารถแจ้งกรมโยธาธิการและผังเมืองประจำพื้นที่เพื่อเข้าตรวจสอบ ให้ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญประเมินลักษณะความเสียหายว่าเป็นประเภทซ่อมแซมเองได้หรือเข้าขั้นวิกฤตที่ต้องตรวจสอบต่อไปถึงโครงสร้างอาคาร ส่วนรอบตัวบ้าน หลังเหตุสงบลงบางครั้งความเสียหายอาจรุนแรงจนทำให้ท่อน้ำประปาแตกหรือเสาไฟฟ้าโค่นล้ม เจ้าของบ้านสามารถแจ้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ทราบได้ทันที
  4. สำรวจตัวเองและสมาชิกในบ้านคนอื่น ตรวจดูว่าใครติดอยู่ภายในบ้านอาคาร หรือมีบาดแผลได้รับบาดเจ็บบ้างหรือไม่ บางคนอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ ใจสั่นหลังแผ่นดินไหว ที่เรียกว่า สมองเมาแผ่นดินไหว (Post-Earthquake Dizziness Syndrome (PEDS) หรือ Earthquake Drunk) เกิดจากสมองและระบบทรงตัว ปรับสมดุลไม่ทันการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติแบบทันทีทันใด ให้ผ่อนคลายจากความรู้สึกเครียด จิบน้ำ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากมีนอนไม่หลับและอาการแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์
หลังเกิดแผ่นดินไหว มักมีอาฟเตอร์ช็อกหรือแผ่นดินไหวระดับความรุนแรงน้อยกว่าตามมาอีกหลายครั้ง ดังนั้นขอให้คอยเฝ้าสังเกตแรงสั่นสะเทือนที่อาจเกิดขึ้นและติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกสักระยะ ใช้วิจารณญานในการรับข่าวสาร ไม่ตื่นตระหนกกับข่าวปลอม และเลือกเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นเท่านั้น

ในทุกบทความ จะเห็นว่าเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น การคุมสติเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ลำดับถัดไปคือปฏิบัติตามสิ่งที่ได้เรียนรู้มา จึงจะทำให้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ไปได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังสามารถช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากอันตรายได้ ให้รักษาสวัสดิภาพของตัวเองเป็นอันดับแรก ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวบ้านหรือทรัพย์สิน ให้คิดเสมอว่าสามารถทยอยซ่อมแซมให้กลับคืนสภาพเดิมได้ สบาย ลีสซิ่ง ยินดีให้คำปรึกษา สินเชื่อโฉนดที่ดิน เป็นตัวช่วยให้แผนต่อเติมปรับปรุงบ้านลุล่วงด้วยดี พร้อมเป็นกำลังใจให้ผ่านไปได้ทุกช่วงเวลา สนใจติดต่อสบาย ลีสซิ่ง ได้ทุกสาขา หรือโทร 055-000-600 หรือติดต่อทาง LINE Official @sabuyleasing